พิพิธภัณฑ์และจัดแสดงนิทรรศการ

พิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา

พิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยาจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับต่อยอดและเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับเห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา อันจะทำให้เกิดความตระหนักในคุณค่าของเห็ด ความเข้าใจเกี่ยวกับเห็ด โดยกระบวนการเก็บตัวอย่าง การจำแนกอย่างเป็นระบบการจัดแสดงตัวอย่าง การเรียนการสอน การบริการวิชาการและการวิจัย พิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยาได้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลในรูปเเบบฐานข้อมูล โดยกำหนดหมายเลขเป็น International Index Herbarium Code คือ MSUT ปัจจุบันมีมากกว่า 4,000 ตัวอย่าง นอกจากนี้ยังมีบริการรับฝากตัวอย่างเห็ดโดยให้หมายเลข MSUT พร้อมกับมีหมายเลขผู้เก็บตัวอย่าง (Collector Number) ทั้งนี้สามารถรับแบบฟอร์มการรับฝากตัวอย่างได้ทีพิพิธภัณฑ์เห็ดที่มีฤทธิ์ทางยา

พิกัด :  อาคารวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ชั้น 3 คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม 44150

https://mushroom.msu.ac.th

พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ป็นศูนย์กลางแห่งการพัฒนาองค์ความรู้ด้านพิพิธภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมให้สังคมได้รับผลประโยชน์จากกิจการพิพิธภัณฑ์ ทั้งในด้านการปลูกจิตสำนึกแห่งคุณค่าและความสำคัญของท้องถิ่น การจัดการพิพิธภัณฑ์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อความต้องการของสังคม และทำหน้าที่สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนการวิจัย และบริการวิชาการด้านพิพิธภัณฑ์ตลอดจนเป็นสถานที่สำหรับการพักผ่อนและจัดกิจกรรมสำหรับคณาจารย์ นิสิต และบุคคลทั่วไป

พิกัด : ตั้งอยู่บริเวณด้านทิศตะวันออกของอาคารบรมราชกุมารี (สำนักอธิการบดี)

https://museum.msu.ac.th
https://www.facebook.com/MsuIsanMuseum

สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช

อยู่ทางทิศตะวันออกของพระธาตุนาดูน เป็นสถานที่ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับพันธุ์ไม้ อนุรักษ์ ขยาย และปรับปรุงพันธุ์ไม้ในภาคอีสาน นอกจากนี้ภายในสถาบันฯ ยังมีอุทยานลานไผ่ สวนสมุนไพร พิพิธภัณฑ์โรงเกวียนอีสาน และพิพิธภัณฑ์เรือนอีสาน ประกอบด้วย บ้านผู้ไทย บ้านประมงอีสาน บ้านดนตรีอีสาน บ้านเครื่องมือดักสัตว์ บ้านผ้าทอ ฯลฯ

พิกัด : อำเภอนาดูน
80 กิโลเมตรจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เขตพื้นที่ขามเรียง

http://walai.msu.ac.th/th/
https://www.facebook.com/WalaiRukhavej

ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา

เป็นหน่วยงานภายในของมหาวิทยาลัย ให้ดำเนินการในรูปแบบการบริหาร เน้นการจัดการโดยใช้หลักประสิทธิภาพ และประสิทธิผล มีการเปิดหลักสูตรนานาชาติบรรพชีวินวิทยาระดับปริญญาโท และปริญญาเอก สังกัดภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ร่วมกับศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยาโดยมุ่งเน้นจัดการศึกษาเพื่อสนองความต้องการและกระจายโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมทั้งในระดับประเทศและในระดับภูมิภาคเอเชีย และเป็นศูนย์รวมนักวิจัยด้านบรรพชีวินในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สนับสนุนการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านบรรพชีวินวิทยาในระดับสากล ภารกิจที่สำคัญในการดำเนินงานของศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยาที่สำคัญก็คือ ผลิต ส่งเสริม และเผยแพร่งานวิจัย ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ และถ่ายทอดพัฒนาความรู้ด้านบรรพชีวินวิทยาให้แก่ชุมชน รวมทั้งการพัฒนาศูนย์ฯ ให้เป็นศูนย์กลางขององค์ความรู้ด้านงานวิจัย เพื่อให้กิจกรรมและผลงานด้านบรรพชีวินวิทยา เป็นที่แพร่หลาย

https://prc.msu.ac.th/
https://www.facebook.com/PRC.MSU/

สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน

เป็นหน่วยงานดำเนินงานเพื่อสร้าง พัฒนา และส่งเสริมการวิจัย งานด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมและบริการวิชาการให้มีความโดดเด่น เพื่อพัฒนาท้องถิ่นและสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ ที่เชื่อมโยงเครือข่ายการศึกษาด้านศิลปะ สังคม วัฒนธรรม ชาติพันธ์ุ และอีสานศึกษา ตลอดจนการจัดตั้ง “ศูนย์เรียนรู้” เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะและวัฒนธรรมอีสานอย่างกว้างขวาง
มีพื้นที่เรียนรู้ต่างๆ ดังนี้

ชั้น 1 “หอศิลป์จำปาศรี” ส่วนจัดแสดงผลงานด้านศิลปะ จัดนิทรรศการหมุนเวียน และจัดกิจกรรมการเรียนรู้

ชั้น 2 “ห้องนิทรรศการศิลปวัฒนธรรมอีสาน” จัดแสดงนิทรรศการลักษณะกึ่งถาวร นำเสนอข้อมูลด้านศิลปะและวัฒนธรรมอีสานด้านต่างๆ ที่มีความหลากหลาย ได้แก่ เกลืออีสาน พื้นที่กับวิถีชีวิตชาวอีสาน ประวัติศาสตร์อีสาน ผู้คนในอีสาน ฮีตสิบสอง เรือนอีสาน และศาสนาพุทธในอีสาน (กำลังปรับปรุงการจัดแสดง)

ชั้น 3 แบ่งพื้นที่จัดแสดงออกเป็น 2 ส่วน คือ

1. “ห้องธรรมเจดีย์นิทรรศ” นิทรรศการที่นำเสนอองค์ความรู้เรื่องเอกสารโบราณ เช่น ใบลาน สมุดข่อย อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ ห้องปฏิบัติการ อนุรักษ์และห้องสืบค้น ดำนเนินการโดยกลุ่มงานอนุรักษ์เอกสารโบราณ

2. “นิทรรศการผ้าทอในวิถีชีวิต” นิทรรศการที่นำเสนอองค์ความรู้เรื่องผ้าทอ วิถีชีวิตของผู้คน (มหาสารคาม) ผ้าทอ เส้นใย และเครื่องมือเครื่องใช้ ดำเนินการโดยกลุ่มงานวิจัย

ชั้น 4 “ห้องนิทรรศการศิลปินพื้นบ้านอีสาน” นิทรรศการที่นำเสนอข้อมูลและเรื่องราวของศิลปินพื้นบ้านและผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม ภาคอีสาน ซึ่งเป็นการนำเสนอจากฐานข้อมูลของผู้ที่ได้รับรางวัล “นาคราช” จากสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน ในแต่ละปี

พิกัด : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เขตพื้นที่ในเมือง

https://rinac.msu.ac.th/th/
https://www.facebook.com/rinac.msu/